THE INTERVIEW WITH MR. YUTHASAK SUPASORN,
GOVERNOR FOR TOURISM AUTHORITY OF THAILAND

คุณยุทธศักดิ์  สุภสร
ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

—————————-

ด้วยความช่วยเหลือด้านข้อมูล และการสนับสนุนในด้านต่างๆจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำให้โปรเจ็ค ‘An Invitation to Travel’ ของแบรนด์นาฬิกา Vacheron Constantin ที่ให้แต่ละประเทศเลือกหาช่างภาพและนำเสนอความงามของเรือนเวลา บนภูมิประเทศ สถานที่ท่องเที่ยว ผสานจิตวิญญาณในแบบฉบับของตัวเอง นั้นสำเร็จลุล่วงได้ออกมาเป็นภาพที่สวยงาม น่าค้นหา โดยสำหรับประเทศไทยได้คุณ ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพชื่อดังมาช่วยถ่ายทอดนำเสนอเรื่องราวอันน่าประทับใจ อย่างเช่นภาพที่หาดชมดาว จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในเมืองรอง สถานที่ที่ใครหลายคนยังไม่เคยรู้จักและไปถึง ทีมงานไปเดินทางไปค้นพบความมหัศจรรย์แห่งเส้นสายอันลดเลี้ยวของสายน้ำและแนวเขาตามคำแนะนำของทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จากโปรเจ็คนี้เองทำให้เพนดูลั่มตัวแทนผู้จำหน่ายนาฬิกา Vacheron Constantin ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถึงที่มาที่ไปของการส่งเสริมการเที่ยวในเมืองรองซึ่งเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาตรการลดหย่อนภาษีที่รัฐบาลประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นมา

ก่อนอื่นอยากทราบถึงจุดประสงค์ และอยากทราบว่าเมืองรองมีที่ไหนบ้าง “ภายใต้แคมเปญ Amazing Thailand Go Local หรือ เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต” เรามุ่งหวังเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อกระจายโอกาสในเชิงพื้นที่ คือ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองและชุมชน โดยจะเป็นการปรับสัดส่วนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างชาติในพื้นที่เมืองหลักต่อเมืองรอง จาก 70:30 เป็น 65:35 ในปี 2561 อีกทั้งกระจายโอกาสในเชิงรายได้จากการท่องเที่ยวให้ลงสู่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งคาดว่าจะสร้างบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองรองและชุมชนอย่างคึกคักและต่อเนื่อง ซึ่งยังจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเตรียมความพร้อมและพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสมดุลในทุกมิติต่อไป และสำหรับ 55 เมืองรอง นั้นได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี พะเยา อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก ราชบุรี สมุทรสงคราม ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สระแก้ว ตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี” ท่านผู้ว่าเล่าให้เราฟังพร้อมกับชวนให้เราไปงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองรอง” ภายใต้แนวคิด “กล้าให้ลอง…มหัศจรรย์ 55 เมืองรอง ลองไปแล้วจะรู้” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 26 สิงหาคม 2561 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยภายในนี้ ททท. พร้อมนำเสนอแพคเก็จท่องเที่ยวเมืองรองในมุมมองใหม่อันมีเอกลักษณ์แปลกใหม่ของพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน

ต่อด้วยคำถามเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่ท่านผู้ว่าชอบเป็นการส่วนตัวกันบ้าง “จ้งหวัดร้อยเอ็ดครับ เนื่องเป็นจังหวัดบ้านเกิดของผม และเพิ่งได้ลงไปทำกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตที่กู่กาสิงห์ ในโครงการ village to the world ซึ่งเปิดประสบการณ์ใหม่เพื่อสัมผัสกับบรรยากาศแบบชนบทแท้ ๆ ที่บ้านกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด นักท่องเที่ยวจะมีกิจกรรมที่ได้ไปสัมผัสกับรากเหง้าทางวัฒนธรรม รับฟังบทกลอนลำ บทผญา สรภัญญ์จากครูเพลงวรรณกรรมพื้นบ้านที่จะถ่ายทอดวิถีชีวิตและความเป็นมาของบ้านกู่กาสิงห์ ได้ไปเยี่ยมชมโบราณสถานกู่กาสิงห์ที่มีอายุนับพัน ๆ ปี ฯลฯ นอกจากนี้ยังจะได้ทดลองย่ำนา หว่านเมล็ดข้าวบนท้องนาที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุจนทำให้ที่นี่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หรือใครอยากลองดำนาก็สามารถทำได้ เมื่อข้าวโตเต็มที่ถึงวาระที่ต้องเกี่ยว ก็สามารถกลับมาเกี่ยวข้าวและนำข้าวกลับบ้าน เป็นการได้ทดลองทำนาตั้งแต่ต้นจนจบขบวนการ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยมีชาวกู่การสิงห์เป็นครู เป็นการเรียนรู้และเชื่อมโยงวิถีชีวิตเข้าหากันระหว่างพื้นที่ได้เป็นอย่างดี” ท่านผู้ว่าเล่า

อยากให้ท่านผู้ว่าช่วยเล่าถึงเทรนด์ในการท่องเที่ยวในปัจจุบัน “แนวโน้มหรือ Trend การท่องเที่ยวในประเทศจะแตกต่างกันตามความสนใจ แต่จะเหมือนกันคือการใช้เทคโนโลยีในการหาข้อมูลก่อนการเดินทาง ทั้งเส้นทาง ที่พัก ร้านอาหาร มีการดู review จากผู้ที่เคยสัมผัสสถานที่แห่งนั้นมาก่อน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าคุ้มเวลาในการเดินทาง ซึ่ง ททท. ไดเร่งดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลทางการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ทั้งโดยสื่อออนไลน์ของ ททท. เอง หรือ การสนับสนุนให้มีการเผยแพร่โดยบล็อกเกอร์และสื่อออนไลน์ที่เป็นสำนักข่าวต่าง ๆ”

สุดท้ายนี้อยากให้ท่านผู้ว่าช่วยฝากข้อคิดสำคัญๆให้กับนักท่องเที่ยว “ผมอยากให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมของสถานที่ที่ไปให้มากขึ้น สิ่งแวดล้อมในที่นี้ ไม่ใช่แค่เพียงธรรมชาติป่าเขา ต้องรวมถึงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม สังคม โดยเฉพาะในชุมชนซึ่งมีความเฉพาะตัวในแต่ละท้องถิ่น ควรเข้าไปในชุมชนเพื่อการเรียนรู้ ซึมซับ และแลกเปลี่ยนด้วยความเคารพและเข้าใจจึงจะช่วยให้ชุมชนนั้นๆยังคงดำรงวิถีแบบดั้งเดิมที่มีเสน่ห์ไว้ได้ ส่วนการดูแลสิ่งแวดล้อมอันเกี่ยวกับการจัดการขยะก็สำคัญมากเช่นกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ขยะในทะเลที่เริ่มย่อยสลายนั้น สัตว์ทะเลจะกินเข้าไป และเมื่อมนุษย์กินสัตว์ทะเลนั้น ขยะสารพิษสารตกค้าง ก็จะกลับเข้ามาสู่ตัวมนุษย์อีกครั้ง อันนี้ยังไม่นับรวมถึงกระทบโดยตรงที่มีผลกับความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวน่ะครับ ดังนั้น ถึงเวลาที่นักท่องเที่ยวและเจ้าของพื้นที่ท่องเที่ยว ต้องหันมาใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เจ้าของพื้นที่เองต้องมีความเข้มงวดในการลดการเกิดขยะ หรือไม่ให้เกิดขยะเลย อีกทั้งต้องหันมาใช้วัสดุธรรมชาติมากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวเองต้องไม่สร้างขยะ อาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยว เช่น การไม่ใช้หลอดพลาสติก การพกกระป๋องน้ำหรือแก้วน้ำ เพื่อใช้แทนแก้วพลาสติก หรือการพกถุงผ้าเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อการดูแลประเทศของเราให้ยังคงมีความสวยงาม และเพื่อให้การท่องเที่ยวยังคงอุตสาหกรรมที่ยังประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยั่งยืนครับ” ท่านผู้ว่า กล่าวปิดท้าย